วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

โครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

โครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

979/ 116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 15  ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

โทรศัพท์ 08-5060-2829

 

ถอดความรู้ เก็บประเด็นจากวงเสวนาระดมความคิด  เบิกทางหนังสือเด็กปฐมวัย สู่วาระการอ่านแห่งชาติ

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2552 เวลา 12.30-16.00 น. ณ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

             

              อาจเรียกว่าเป็นครั้งแรกที่นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก ทั้งผู้บริหาร บรรณาธิการ กว่า 40 ชีวิต ได้มาร่วม

ถกปัญหาและร่วมเสนอแนะหาทางออกเพื่อ เบิกทาง เกี่ยวกับหนังสือเด็กปฐมวัย   ผ่านการเชื้อเชิญของโครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน (สส.วอ.)  ซึ่งแม้จะเป็นหน่วยงานที่เพิ่งเริ่มก่อรูปก่อร่าง แต่ก็มีเป้าหมายชัดเจน คือการคัดสรรหนังสือดีสู่มือเด็ก (โดยเฉพาะเด็กที่ยังขาดโอกาส) และเสริมสร้างรากฐานทางวิชาการเกี่ยวกับหนังสือเด็กปฐมวัย   

ความคิดเห็นอันหลากหลายที่เกิดจากการรวมตัวกันในวันนี้มีค่ายิ่ง เพราะจะกลายเป็นพลังเรียกร้องที่ส่งผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการต่างๆ  อันสนับสนุนและส่งเสริม วาระการอ่านแห่งชาติ อย่างแท้จริง

 

ต้องเริ่มที่คนรอบตัวเด็ก ไม่ใช่เริ่มที่ตัวเด็ก

                   ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ  แต่อยู่ที่ตัวองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็ก

ครูชีวัน วิสาสะ  นักสร้างสรรค์หนังสือเด็กที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  เปิดการเสวนา ด้วยการหยิบยกเอาอุปสรรคของวงการหนังสือเด็กปฐมวัยมาชี้ให้เห็นรอยโหว่ที่ต้องเร่งแก้ไข

ปรมาจารย์นักสร้างสรรค์หนังสือเด็กมองว่า การให้หนังสือภาพสำหรับเด็กถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหนังสือเป็นหลัก  แต่ขึ้นอยู่กับบริบทรายรอบตัวเด็ก ซึ่งหมายถึงคนหลากหลายกลุ่มที่แวดล้อมตัวเด็กอยู่  ตั้งแต่ พ่อแม่  ครูอนุบาล/ครูปฐมวัย รวมทั้ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.  ซึ่งยังมองไม่เห็นค่าความสำคัญ ของเด็กกับการอ่านหนังสือ

 

ปัญหาขาดแคลนนักเขียน

ในขณะที่คุณสมศักดิ์ เตชะเกษม ประธานกรรมการ บริษัทสำนักพิมพ์บรรณกิจ   มองผ่านมุมของผู้บริหารที่เห็นว่าปัญหาของวงการหนังสือเด็กอยู่ที่ นักเขียนภาพ ทั้งการขาดแคลนนักเขียนภาพฝีมือดี  ทั้งที่มีเรื่องให้เขียนรออยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งความเป็นศิลปินของนักเขียนที่มีต่อเสียงท้วงติงจากกองบรรณาธิการ 

แต่ทางด้านคุณสุชาดา สหัสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาส เอ็ดดูเคชั่น  มองว่า ปัญหาของผู้ผลิตหนังสือเด็กไม่ได้อยู่ที่ขาดคนเขียนภาพ แต่อยู่ที่ขาดคน เขียนเรื่อง สาเหตุอาจเป็นเพราะ ในบ้านเรายังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กโดยตรง   ในประเด็นนี้ คุณอรชร ตั้งวงษ์เจริญ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เห็นด้วยว่า มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาของไทยต้องช่วยพัฒนาหลักสูตร ทั้งการเขียนเรื่อง-และการวาดภาพสำหรับหนังสือเด็ก เช่นเดียวกับคุณวิริยา วงศ์วัชระกุศล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สำนักพิมพ์อักษรา ฟอร์ คิดส์ ที่เห็นว่า ปัญหาของผู้ผลิตคือขาดคนวาด ขาดคนเขียนหนังสือเด็กที่เข้าใจเรื่องของเด็กอย่างแท้จริง  

 

 

กำแพงสูง (ที่รอวันทลาย) จากภาครัฐ

ส่วนความเห็นที่คุณศิวโรจน์ ด่านศมสถิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักพิมพ์ห้องเรียนนำเสนอก็คือ

ผมอยากเห็นเสรีภาพที่เปิดกว้าง

เพราะมองว่าปัญหาของวงการหนังสือเด็กที่เรียกได้ว่า อันตราย อย่างยิ่ง คือการผูกขาดของระบบตลาด ที่เป็นกำแพงกั้นจากภาครัฐอยู่ทุกวันนี้  แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถทลายกำแพงให้ลดลง ความหลากหลายของหนังสือเด็กก็จะเกิด คุณภาพที่ดีก็จะตามมา  ซึ่งในประเด็นนี้คุณผ่องเพ็ญ อาชาเทวัญ ประธานกรรมการสำนักพิมพ์สกายบุ๊ส์ ก็เห็นด้วยเช่นกันว่า อุปสรรคของการทำงานของสำนักพิมพ์เล็กๆ คือไม่อาจเติบโตได้ เพราะมีการผูกขาดจากแบรนด์ขนาดใหญ่ ที่เติบโต และฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน 

 

ยิ่งคัดสรร-ยิ่งปิดโอกาส?

อีกประเด็นที่คุณศิวโรจน์เสนอแนะก็คือ  แนวทางในการคัดเลือกหนังสือดี ผู้คัดสรรต้องใคร่ครวญถึงคำถามที่ว่า เราจะวัดคุณค่าของการคัดสรรกันอย่างไร?   เพราะเชื่อว่า ยิ่งการคัดเลือกหนังสือดีเปิดกว้างเท่าไหร่ ยิ่งเป็นโอกาสสำหรับทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้อ่านมากเท่านั้น   ที่สำคัญคือ อย่าได้ติดยึดว่าหนังสือดีคือหนังสือที่ได้รางวัล แต่ต้องเปิดใจให้กว้างฟังเสียงความนิยม ความชื่นชมของกลุ่มผู้อ่านอย่างแท้จริงด้วย  สิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการคัดสรรก็คือ การประเมินคุณค่าจาก ภาควิชาการ ซึ่งหมายถึงการนำผลการวิจัย นำเสนอสู่ประชาชน    เพราะผลทางวิชาการจะเป็นมูลฐานอันแข็งแรงที่สุดที่จะช่วยให้ประชาชนยอมรับได้ 

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า สสส. (สส.วอ.-สสย.) ควรเป็นสื่อกลางในการเปิดเวทีวิชาการ โดยนำเสนองานวิชาการแง่มุมใหม่ๆ  ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่อง BBL (Brain-Based Learning) หรือ Thinking Skill   เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจแก่คนในสังคมว่าหนังสือมีข้อดีต่อเด็กแค่ไหน อย่างไร

และเมื่อมีผลทางวิชาการเกิดขึ้นแล้ว หนทางหนึ่งที่จะช่วยให้แนวคิด ทฤษฎีด้านการอ่าน เผยแพร่ในวงกว้างได้ก็คือ ชุมชนทางอินเทอร์เน็ต  หรือการเผยแพร่ผ่านบล็อคต่างๆ  รวมทั้งการนำเสนอผลงานการสร้างสรรค์หนังสือภาพผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย  ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยคัดกรองคุณภาพ และสร้างมาตรฐานของหนังสือเด็ก

ชุมชนทางอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้คนเชื่อมั่นในพลังการวินิจฉัย (หนังสือเด็ก) และเกิดความหลากหลายของหนังสือด้วย

เว็บไซต์กลางของ ชุมชนนักเขียนภาพประกอบ หรือชุมชน Illustration/ Illustrator    จะช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเขียนที่โพสต์ประวัติ-ผลงานของตัวเองลงไป ได้เผยแพร่ความสามารถของตัวเองในวงกว้าง ซึ่งชุมชนนักเขียนภาพประกอบนี้ก็จะกลายเป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนที่มี คอเดียวกัน (คนเขียนเรื่อง-คนเขียนภาพ) ได้มาทำงานร่วมกัน  ได้เห็นความหลากหลาย และ

สิ่งที่ไม่ได้ถูกเลือกในที่หนึ่งอาจเหมาะสมกับอีกที่หนึ่งก็ได้

ด้านสำนักพิมพ์ก้อนเมฆก็เห็นด้วยที่ สส.วอ. (สสย.) จะเป็นสื่อกลางในการเปิดพื้นที่ทางเว็บไซต์  โดยเสริมว่าในเว็บไซต์กลางนี้ควรเปิดพื้นที่ให้พ่อแม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ (review) หนังสือเด็กคล้ายกับเว็บไซต์อเมซอน (www.amazon.com)  

ขณะที่คุณสุชาดา ประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็ร่วมแสดงความเห็นในปัญหาการคัดสรรหนังสือเด็กว่าบางโอกาสสำนักพิมพ์ขาดความร่วมมือในการส่งหนังสือเด็กเข้าคัดสรร  จากสมาชิกที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 500 แห่ง ก็ส่งมาคัดสรรเพียงครึ่งเดียว  ทำให้จำนวนที่ได้รับมีเพียงประมาณ 2,000 ปก   ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก   จึงมองว่าหากต้องการให้การคัดสรร เป็นการกลั่นกรองคุณภาพของหนังสือเด็กอย่างแท้จริง ต้องเริ่มต้นจากการหาหนทางให้สำนักพิมพ์ส่งปริมาณหนังสือเข้าสู่กระบวนการคัดสรรเป็นจำนวนมากเสียก่อน

ยังมีความเห็นในเรื่องการคัดสรรหนังสือจาก คุณวรินทร์เนตร ศิริโชติชำนาญ กรรมการผู้จัดการบริษัท Be Amazing Edutainment ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ขบวนการนักอ่าน  ซึ่งนำประสบการณ์จากการจัดรายการโทรทัศน์ของตนเองมาเล่าว่า ในรายการมีช่วงของการคัดสรรหนังสือเช่นกัน ซึ่งเธอก็ใช้วิธีเปิดกว้างให้ทุกสำนักพิมพ์มีโอกาสนำเสนอตัวเองอย่างเท่าเทียม และแม้จะมีหนังสือที่ถูกเลือกมานำเสนอในรายการแล้ว แต่ก็ทิ้งท้ายบอกผู้ชมเสมอว่าหนังสือดีไม่ได้มีเพียงเล่มเดียวแต่ยังมีอีกมากมายรอให้เปิดอ่าน 

 

หนังสือเด็ก-หนังสือชั้น 2

              แต่ปัญหาที่ประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ หนักใจที่สุด คือเรื่อง การจัดจำหน่าย  ซึ่งจากการสำรวจทั่วประเทศพบว่าร้านหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้กับหนังสือเด็กนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก 

              ชั้นหนังสือเด็กจะไม่เคยปรากฏหน้าร้านเลย     คุณสุชาดามองว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะมีกลุ่มผู้บริโภคน้อย  พ่อแม่ยังไม่รู้จัก ไม่คิดที่จะซื้อหนังสือเด็กมากนัก  รวมทั้งอาจเป็นเพราะสาเหตุจากครูที่ไม่สามารถเลือกหนังสือได้เอง เพราะถูกผู้ใหญ่บังคับหรือถูกกำหนดมาล่วงหน้าแล้ว

ซึ่งในเรื่องนี้ คุณรุ่งโรจน์ อาชาเทวัญ ผู้จัดการทั่วไป สำนักพิมพ์สกายบุ๊กส์ก็เห็นด้วยว่า สถานะของหนังสือเด็กในร้านหนังสือนั้นยังเป็นรองหนังสือสำหรับผู้อ่านกลุ่มอายุอื่นๆ อยู่มาก  เพราะหนังสือเด็กมักไปซ่อนอยู่ในซอกหลืบของร้านเสมอ    ส่วนประเด็นเรื่องครูเลือกหนังสือเองไม่ได้นั้น มองว่าเป็นปัญหาจากระบบผูกขาดการซื้อขาย ที่มีมาช้านาน

ส่วนทางด้านคุณวิริยา วงศ์วัชระกุศล จากสำนักพิมพ์อักษรา ฟอร์ คิดส์ ก็เห็นด้วยกับเรื่องพื้นที่สำหรับหนังสือเด็กในร้านหนังสือที่มีจำนวนจำกัด  ซึ่งทางสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือในราคาไม่แพง คือ 20-55 บาทต่อเล่มนั้น แม้จะขายได้จำนวนมากแต่ก็ยังได้กำไรน้อย 

 

ต้องกำหนดช่วงอายุของผู้อ่านหนังสือเด็กหรือไม่?

              ส่วนเรื่องการหาเกณฑ์เพื่อกำหนดช่วงอายุของกลุ่มผู้อ่านหนังสือเด็กยังคงมีข้อถกเถียงทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย  โดยคุณรุ่งโรจน์ มองว่า  ผู้ผลิตหนังสือเด็กควรหาเกณฑ์กำหนดช่วงอายุให้เหมือนกันทุกสำนักพิมพ์ และระบุไว้บนปกหนังสือ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน   แต่คุณศิวโรจน์ กลับมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องหากฎเกณฑ์ตายตัวในเรื่องนี้ เพราะในต่างประเทศก็ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป 

              ข้อขัดแย้ง หรือความแตกต่างเกิดขึ้นบ้างเป็นสิ่งดี  เราไม่ควรไปตีกรอบเรื่องนี้ 

              เมื่อกล่าวถึงข้อขัดแย้ง  ครูชีวัน วิสาสะ ก็ได้ตั้งข้อคิดทิ้งท้ายแนวทางการคัดเลือก การประกวดหนังสือดีในสังคมไทยไว้ว่า มันมากเกินไปหรือเปล่า?   สังคมกำลังถูกกฏเกณฑ์บางอย่างครอบงำหรือไม่   ควรจะมีการตั้งคำถามแย้งคณะกรรมการประกวดตัดสินเกิดขึ้นบ้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

สรุปการเสวนา

หัวข้อ

ข้อคิดเห็นจากการเสวนา

อุปสรรค

 

-บริบทรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะคนในสังคม ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในหนังสือเด็ก  ทั้งพ่อ-แม่ ครู อบต.

- ตัวผู้ผลิต (ผู้สร้างสรรค์ภาพ-เขียนเรื่อง)  ยังขาดแคลน

-หลักสูตรการศึกษาการเรียนการสอนนักสร้างสรรค์หนังสือเด็กยังมีน้อย

- การเปิดพื้นที่ให้กับหนังสือเด็กของร้านหนังสือยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับหนังสือสำหรับกลุ่มอายุอื่น 

ทางออก/ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะต่อ สส.วอ. (สสย. และ สสส.)

- ควรหามาตรฐานจากงานวิจัย งานเชิงวิชาการเป็นเกณฑ์ในการคัดสรร รวมทั้งเปิดพื้นที่ทางเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่งานวิชาการและพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นสื่อกลางทั้งนักเขียนเรื่อง-เขียนภาพ รวมทั้งพ่อแม่ (ผู้อ่าน) จะได้ร่วมกันประเมินคุณค่าหนังสือเพื่อเกิดความหลากหลายของหนังสือ อีกทั้งสร้างมาตรฐาน/คุณภาพหนังสือเด็กร่วมกัน (เพื่อป้องกัน/ขจัดการคัดสรร-ให้รางวัลแต่ละสำนักที่อาจถูกมองว่าไม่เป็นธรรม)

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

 

ประเด็นอื่นๆ ในวงเสวนา

สำนักพิมพ์/ผู้เสนอความเห็น

ข้อคิดเห็น

 

รายการขบวนการนักอ่าน

 

นานมีบุ๊คส์

สถานการณ์ของหนังสือเด็กปัจจุบัน

- พ่อแม่รุ่นใหม่เริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ตั้งครรภ์ แสดงถึงการเห็นความสำคัญของการอ่านในสังคมที่มากขึ้น

- ตลาดหนังสือเด็กเติบโตขึ้น มีอุปทาน (demand) ในสังคมสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของสำนักพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก แต่ปัญหาคือกลุ่มผู้ผลิตยังไม่มีพลังมากพอ

สำนักพิมพ์ก้อนเมฆ

 

ข้อเสนอแนะต่อผู้ผลิตหนังสือ คือการให้ความสำคัญกับคนขายหนังสือ หากสามารถแนะนำพ่อแม่ถึงวิธีการใช้หนังสือกับเด็กอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของหนังสือได้เต็มที่

นานมีบุ๊คส์

แนวทางเสริมที่จะทำให้คนไทยเห็นคุณค่าในการอ่านหนังสือ อยู่ที่การเปิดพื้นที่ของสื่อ  โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์จะมีพลังในการปลุกกระแสรักการอ่านได้มากที่สุด 

สกายบุ๊กส์

ข้อเสนอแนะต่อผู้ผลิต-ผู้ปกครอง ควรสร้างจิตสำนึกรักหนังสือ (ถนอมหนังสือ) ให้กับเด็กนอกเหนือไปจากการรักการอ่านด้วย

บ้านดรุณ

ข้อเสนอต่อรัฐควรช่วยส่งเสริมให้มีหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนมากขึ้นเพื่อให้เด็กเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น

              หลังเสร็จสิ้นการเสวนากเข้าสู่ ข้อเรียกร้องเรื่อง นโยบายหนังสือเด็กปฐมวัยต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเครือข่ายสร้างสรรค์หนังสือเด็กปฐมวัย   ที่ประกอบด้วยองค์กร 23 องค์กร ก็ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากประเด็นในการยกร่างของ สส.วอ. ดังนี้

 

สำนักพิมพ์/

ผู้เสนอข้อเรียกร้อง

ประเด็นที่เรียกร้อง

ยุทธศาสตร์ด้าน 1/2/3[1]

สกายบุ๊กส์

 

 

สมาคมผู้จัดพิมพ์

- มาตรการภาษีสำหรับผู้ผลิตหนังสือ/สำนักพิมพ์ แม้ปัจจุบันได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเข้า Vat แต่ยังมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตอื่นๆ อยู่ จึงต้องการเสนอให้เข้า Vat แต่ให้ Vat เป็น 0

- สมาคมเคยดำเนินการเรื่องการยกเว้นภาษีนำเสนอต่อรัฐมนตรีคลังแล้วและทางรมต. แจ้งเรื่องขอข้อมูลประกอบด้านการสูญเสียรายได้ของรัฐ เทียบส่วนประโยชน์อันจะเกิดขึ้น ซึ่ง สสย. กำลังดำเนินการในเรื่องนี้

1

บรรณกิจ

เสนอให้ สส.วอ-สสส. หาแนวร่วมจากองค์กรท้องถิ่นของรัฐ คือผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักการศึกษา กทม. รวมทั้ง อบจ. และ อบต. โดยเฉพาะ อบต. เชิญเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการจัดทำโครงการบ่มเพาะการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในคุณค่าของการอ่านหนังสือสำหรับเด็ก และเพื่อสร้างโอกาสในการเผยแพร่หนังสือให้กระจายถึงมือเด็กทั่วประเทศด้วย

2 และ 3

ห้องเรียน

- เน้นการส่งเสริมงานวิจัย งานวิชาการหนังสือเด็กให้มากขึ้น

- เน้นการสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นพื้นที่ทางสังคมให้เกิดการยอมรับ ให้เหมือนเว็บไซต์อย่างพันทิป หรือ OK Nation เพื่อเข้ามาพยุงความยั่งยืนของโครงการ (เพราะแม้โครงการอาจจบสิ้นลง แต่ชุมชนทางเว็บไซต์ยังเปิดพื้นที่ทางสังคมคอยขับเคลื่อนเจตนารมณ์รักการอ่านต่อไปได้)

1

3

ขบวนการนักอ่าน

 

มูลนิธิเด็ก

-เสนอให้มีการเพิ่มศักยภาพนักเขียน-นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก โดยการจัดอบรมให้มากขึ้น

-ผู้สร้างสรรค์หนังสือเด็กปัจจุบันยังไม่ค่อยใส่องค์ความรู้ หรือให้ความรู้ลงไปในหนังสือสำหรับเด็ก เพื่อความหลากหลายนอกเหนือไปจากนิทาน  

-ขาดคนที่จะเข้ามาทำงานในอาชีพนักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก จึงเรียกร้องให้จัดอบรมผู้ผลิต นักเขียนเพื่อให้มีจำนวนมากขึ้น  หรือหาทางสร้างแรงจูงใจให้นักเขียนเข้าสู่วงการมากขึ้น

1

 

1

นานมีบุ๊คส์

ควรมีหน่วยงานกลาง ที่ช่วยสนับสนุนนักเขียนหนังสือหน้าใหม่  ให้มีรายได้มากขึ้น ชื่อเสียงดีขึ้น เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของนักเขียนไทยที่สามารถ โกอินเตอร์ ได้

1

นานมีบุ๊คส์

ประเทศไทยควรมี เจ้าภาพ จัดตั้งสถาบันหรือสำนักงานเพื่อเสริมสร้างการอ่านแห่งชาติขึ้นเหมือนเกาหลีใต้ ที่มีสำนักงานวรรณกรรมแห่งชาติ หรือ KLTI  เพื่อเป็นหน่วยงานในการคัดสรรผลงานหนังสือที่มีคุณภาพ รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมนักเขียน-นักวาดภาพประกอบให้อยู่ในอาชีพได้  เช่น KLTI นั้นสนับสนุนผลงานของนักเขียนในด้านการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อการ โกอินเตอร์  นอกจากนี้ยังมีการพานักเขียนตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ผลงานและพบปะผู้อ่านโดยตรง

3

นานมีบุ๊คส์

รัฐควรดึงให้ไปรษณีย์ไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อมีส่วนร่วมในการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดส่งหนังสือ เพื่อบทบาทการกระจายหนังสือสู่มือเด็กได้กว้างขวางขึ้น

2

ครูชีวัน วิสาสะ

การจัดทำงานวิจัย วิชาการ ต้องระมัดระวัง ตั้งคำถามให้ดีว่าทำขึ้นมาเพื่อใคร ไม่ควรทำเพื่อสำนักพิมพ์ 

1

พาส เอ็ดดูเคชั่น

สร้างศูนย์กลางแหล่งหนังสือ/ห้องสมุดหนังสือ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายดาย เหมือนเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ  โดยเสนอแนะให้ วัด เป็นศูนย์กลางในการรวมหนังสือ และรวมผู้อ่านเข้าไว้ด้วยกัน

 

 

 

 

จัดทำโดย ทีมงานวิชาการ โครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงาน แผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

(8 กันยายน 2552)

 

ทั้งนี้ คณะทำงานจะประมวล ยกร่าง ข้อเรียกร้องในครั้งนี้ มาเป็นรูปธรรมในการเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป และเปิดโอกาสให้องค์กร นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก และสำนักพิมพ์ ผู้ผลิตหนังสือเด็กปฐมวัย สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม และส่งหนังสือเข้าร่วมการคัดสรร ได้ที่ ครงการสำรวจ ศึกษา และดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน 979/ 116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 15  ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2552 หรืออบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้ที่ คุณนันทศิริ  ญาณจันทร์ ผูประสานงานโครงการฯ โทรศัพท์  0-2298-0222 ต่อ 208  โทรศัพท์มือถือ 085-060-2829  จดหมายอิเล็คดทรนิค: theproject.ssi@gmail.com

 


[1] ยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 หมายถึง ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีหนังสือเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม

  ยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 หมายถึง ยุทธศาสตร์การกระจายหนังสือให้เข้าถึงเด็ก

  ยุทธศาสตร์ด้านที่ 3 หมายถึง ยุทธศาสตร์รณรงค์ให้เกิดความต้องการและพฤติกรรมการอ่านเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

 



--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
blog
http://ktblog1951.blogspot.com/ monday
http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://www.ksmecare.com/docSeminar/520902031848987.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น